วันที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 08.30 น. นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยนายเฉลิมเกียรติ รอดแสง หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โดยมีนายอนุรักษ์ ชูเจริญ เกษตรอำเภอยะหริ่ง ร่วมให้ข้อมูลพร้อมนำเยี่ยมชมพื้นที่นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย เพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป เกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะช่วยเกษตรกรลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้จากการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับจังหวัดปัตตานีได้ดำเนินการ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 6 ศูนย์ ประกอบด้วย ศดปช.ตำบลดอน อำเภอปะนาเระ ศดปช.ตำบลตันหยงจึงงา อำเภอยะหริ่ง ศดปช.ตำบลลางา อำเภอมายอ ศดปช.ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก ศดปช.ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี ศดปช. ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อ ซึ่งได้มีการส่งเสริมองค์ความรู้พื้นฐานด้านดินและปุ๋ย เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ยสั่งตัด และวิธีการเก็บตัวอย่างดินที่ถูกต้องแก่สมาชิก ศดปช. สนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย N P K และเครื่องผสมปุ๋ย เพื่อให้ใช้ในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ควบคู่กับการให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น และจัดหาปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป โดยการเปิดให้บริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการพัฒนาต่อยอดให้ ศดปช. สามารถทำธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน มีรายได้หมุนเวียนจากการตรวจวิเคราะห์ดิน จำหน่ายปุ๋ยและบริการผสมปุ๋ยและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐได้ในอนาคต โดยปัจจุบัน ศดปช.ที่เข้าร่วมโครงการของจังหวัดปัตตานีสามารถให้บริการวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกรในพื้นที่แล้ว จำนวน 569 ราย และจำหน่ายปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกร จำนวน 10,288 กิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและประสงค์ขอใช้บริการสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตรหรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่