นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ Climate Change นั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต เข้าสู่ยุคสมัยของเกษตรอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การทำฟาร์มที่มีความแม่นยำสูง (Precision Farming) จะมีการดูแลทุกกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่จะทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ เพื่อให้กระบวนการผลิตถูกต้องตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ด รดน้ำ ให้ปุ๋ย ให้ยาปราบศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและคัดเลือกผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด และมีคุณภาพดี HandySense เป็นผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC จะอาศัยการทำงานของเทคโนโลยีไอโอทีและเซนเซอร์ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ เช่น เซนเซอร์วัดความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นในดินและในอากาศ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์ ไปยังส่วนที่ 2 คือ ระบบแสดงผลแจ้งเตือนและควบคุมการทำงานผ่าน Web application ที่สามารถแสดงผลข้อมูลสภาวะปัจจุบันของพืช และนำไปเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูก (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่างๆ ให้ทำงานต่อไป นายสุพิท จิตรภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับ NECTEC และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ขับเคลื่อนระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense สมาร์ทฟาร์มแบบเปิดไปสู่เกษตรกร โดยสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมพัฒนาความรู้ ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบและเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ ขณะนี้ได้จัดประชุมวางแผนการดำเนินงาน คัดเลือก ศพก. และศูนย์ปฏิบัติการ ยกร่างโครงการความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการจัดทำข้อมูล ร่วมกับพื้นที่ ออกแบบ และประเมินความพร้อมจุดดำเนินการ และเดือนกรกฎาคม 2564 จะฝึกอบรมถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ รวม 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) การใช้งานระบบเกษตรอัจฉริยะโดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ระดับที่ 1 2) การติดตั้ง การใช้งาน ดูแลรักษา ประเมินความเสียหายอุปกรณ์ แก้ไขปัญหาเบื้องต้น ระบบเกษตรอัจฉริยะโดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense แบบเข้มข้น ระดับที่ 2 3) การเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้โปรแกรมตามความต้องการของการดำเนินงานด้านการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ระดับที่ 3 โดยด้านงบประมาณ ธกส. จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะดังกล่าวเมื่อ NECTEC ทำการติดตั้งระบบแล้ว จะร่วมกันติดตามประเมินผลต่อไป เบื้องต้นทั่วประเทศมีเป้าหมายนำร่องใน ศพก. 7 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการ 11 ศูนย์ ในส่วนภาคใต้ ดำเนินการ 3 จุด ได้แก่ ศพก. อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงเรือนเพาะเห็ด และกิจกรรมการผลิตผัก ซึ่งพื้นที่ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวมีพื้นที่ทำเกษตรน้อยจึงเหมาะสมกับการผลิตลักษณะนี้ จุดที่ 2 ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง เป็นศูนย์ด้านการขยายพันธุ์พืช และจัดทำแปลงเรียนรู้ และจุดที่ 3 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสุราษฏร์ธานี ดำเนินการในแปลงเรียนรู้ทุเรียน ได้กำชับให้จังหวัดและศูนย์เร่งจัดทำข้อมูลพื้นฐาน ทำความเข้าใจเกษตรกร เตรียมความพร้อมพื้นที่ และสำรวจอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น แปลงต้นแบบ แหล่งน้ำ ระบบท่อ โรงเรือน สัญญาณอินเตอร์เน็ต คาดว่าเมื่อสถานการณ์ covid-19 เริ่มคลี่คลาย 3 หน่วยงาน เร่งลงพื้นที่ประเมินเชิงประจักษ์ ติดตาม สรุปผลการดำเนินงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ เพื่อขยายผลสู่การปฏิบัติต่อไป