สสก.5 สงขลา ร่วมจัดเวทีเชื่อมโยงเทคโนโลยี นวัตกรรม จากศูนย์ AIC สู่ ศพก.

“Agritech and Innovation Center" หรือ AIC เป็นแหล่งบริการองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสร้างสรรค์ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวม 83 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมการเกษตรไปปรับใช้ในพื้นที่

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ลงพื้นที่ติดตามและให้แนวทางการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมจากศูนย์ AIC สู่เกษตรกรในพื้นที่ นั้น นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้ทุกเขต คัดเลือกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นำร่องภาคละ 1 จุด เพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ ศพก. ในปี 2564 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้คัดเลือก ศพก. อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา เป็นจุดดำเนินการ ขณะนี้ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน  จัดทีมลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรอำเภอนาหม่อม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์ AIC ของจังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด
จัดเวทีเชื่อมโยงศูนย์ AIC สู่ ศพก. เพื่อค้นหาความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ และคัดเลือกกิจกรรมการเกษตรที่จะนำนวัตกรรมไปขยายผล ผลจากการจัดเวทีสรุปประเด็นที่ ศพก. และเกษตรกรในพื้นที่ต้องการ มีดังนี้ 1) การจัดการดิน น้ำ เพื่อการผลิตไม้ผล 2) การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงโดยการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันกำจัดโรคในทุเรียน และ 3) การเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงเป็นอาชีพเสริมในสวนยางพาราและสวนผลไม้ นอกจากนี้ได้ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติงาน ประกอบด้วย แผนระยะสั้นที่จะดำเนินการทันทีในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีดังนี้
1) นำปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรผลิตอยู่ไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพที่ศูนย์ AIC มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2) จัดถ่ายทอดความรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงและการควบคุมคุณภาพ
3) จัดถ่ายทอดความรู้ เรื่องนำโฟมยางพาราผสมสารล่อแมลง เพื่อการควบคุมแมลงวันผลไม้ พร้อมมอบแผ่นโฟมยาง และสาธิตให้เกษตรกรนำไปใช้ทดสอบในแปลง
และแผนระยะยาว ที่จะดำเนินการในปี 2565-2566 ได้แก่ การจัดการปัจจัยพื้นฐานในการผลิตไม้ผลคุณภาพ เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าการตรวจวิเคราะห์ดิน การจัดการศัตรูพืช การจัดการน้ำโดยใช้ระบบอัตโนมัติ จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตทุเรียนคุณภาพ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (Post harvest)
การขอรับรองมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ และการเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงในสวนยางพาราและสวนผลไม้ ตลอดจนการแปรรูปเพิ่มมูลค่า