สสก.5 สงขลา จัดสัมมนาอาสาสมัครเกษตรระดับเขต ชู อกม. คือกำลังสำคัญของภาคเกษตร


29 มิถุนายน 2564 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดสัมมนาเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาสาสมัครเกษตรระดับเขต ผ่านระบบออนไลน์

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลาเปิดเผยว่า อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีหมู่บ้านละ 1 คน โดยในส่วนของภาคใต้ มีจำนวน 8,707 คน เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสำรวจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงมีภารกิจสำคัญทั้งการช่วยเจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตร จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน ประสานงาน
การถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาการเกษตร รวมถึงการรายงานสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น การระบาดศัตรูพืช นอกจากนี้ยังเป็นผู้รู้จักพื้นที่และมีความเข้าใจเกษตรกร รู้ปัญหาและขีดความสามารถในการพัฒนาภาคการเกษตรของแต่ละหมู่บ้านเป็นอย่างดี การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพและพลังของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเชื่อมโยง และประสานการทำงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเชิดชูเกียรติอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านต้นแบบ บุคคลเป้าหมายรวม 240 คน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรจังหวัด (อกษจ.) คณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรระดับอำเภอ (อกษอ.) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ที่ผ่านเวทีจังหวัด/อำเภอ เจ้าหน้าที่ วิทยากรและผู้เกี่ยวข้อง กิจกรรมการจัดเวที ประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับบทบาทของอาสาสมัครเกษตรกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตร เครือข่ายข่าวประชาชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากวิทยากรกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านต้นแบบจาก 14 จังหวัดภาคใต้
ด้านนายพงศ์ศักดิ์ สุขศิริ อกม.ต้นแบบจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ตนเองมีใจรักในการทำการเกษตร เกิดแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ และนำมาสู่การเป็น อกม. มีโอกาสศึกษาดูงาน อบรมสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆ และได้เพิ่มพูนประสบการณ์จากที่กระทรวงเกษตรฯ หยิบยื่นให้ ทั้งนี้ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ไว้มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต การที่ตนเองได้เป็น อกม. นั้น ก็ทำให้มีโอกาสได้ช่วยงานสำนักงานเกษตรอำเภอ และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้ และถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ ข่าวสารต่างๆ ให้กับเกษตรได้รับทราบ
ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตมังคุดคุณภาพในระยะต่างๆ ของอำเภอพะโต๊ะ ด้วย ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกจำนวน 298 คน มีการอบรมให้ความรู้ ประมาณ 2-3 ครั้ง/เดือน หรือตามช่วงเวลาการผลิตมังคุดในระยะต่างๆ โดยมีการนำหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสม (GAP) การป้องกันมังคุดเนื้อแก้วยางไหลมาให้ความรู้เกษตรกร รู้สึกภูมิใจที่ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้มากขึ้น