นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.5 สงขลา) ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตรและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน คือ วิธีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้ชีวภัณฑ์จึงเป็นแนวทางสำคัญในการทำกิจกรรมการเกษตรลักษณะนี้ โดยเกษตรกรและชุมชนต้องร่วมกันวางแผนการจัดการศัตรูพืชตั้งแต่ก่อนการระบาด ติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง พัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการศัตรูพืช เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงและความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายดังกล่าว สสก.5 สงขลา ได้ผลักดันให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการ ภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ทำวิจัยเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ได้นำไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปปฏิบัติต่อไป นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านการอารักขาพืช รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยเน้นการใช้ชีวภัณฑ์ ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบจังหวัดสงขลา โดยศึกษากระบวนการรูปแบบ (Model) การพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยเน้นการใช้ชีวภัณฑ์ ในพื้นที่ 3 ชุมชน ในจังหวัดสงขลา ได้แก่ ชุมชนป่าขาด ชุมชนรำแดง อำเภอสิงหนคร ชุมชนบ้านแค อำเภอสทิงพระ โดยบูรณาการร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสิงหนคร สำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ ประกอบด้วยการผลิตและบริการชีวภัณฑ์พร้อมใช้ในชุมชน การอบรมการผลิตขยายการใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การให้คำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์ในไร่นา การส่งเสริมบริการชีวภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตโดยใช้ชุมชน รวมทั้งการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ ซึ่งมีการผลิตและบริการชีวภัณฑ์พร้อมใช้ในชุมชน ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม เชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทิลิส สารสกัดสะเดา และแมลงศัตรูธรรมชาติ และได้อบรมการผลิตชีวภัณฑ์ใช้เอง การใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ แก่ เกษตรกรผู้นำ และให้คำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์ในไร่นา เช่น พริก มะเขือ พืชผักอินทรีย์ มะพร้าว และฝรั่ง การส่งเสริมบริการชีวภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตโดยชุมชน โดยการรับรอง GAP รวมทั้งการพัฒนาหมู่บ้านชีวภัณฑ์ โดยจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร 3 กลุ่ม พร้อมการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นางสนธิยา ละอองสกุล เกษตรกรต้นแบบรำแดงโมเดล ได้ทดลองใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงฝรั่ง โดยนำสารสกัดสะเดาฉีดพ่นเพื่อรบกวนการผสมพันธุ์ของแมลง ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน และแมลงวันผลไม้ ใช้เชื้อราเมตาไรเซียม กำจัดดักแด้ของแมลงวันผลไม้ในดิน ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทิลิส เพื่อป้องกันและควบคุมโรคแอนแทรคโนส และใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช โดยพบว่า ทำให้ผลของฝรั่งมีคุณภาพดีขึ้น ผิวสวย การทำลายของศัตรูพืชน้อยลง ความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยเน้นการใช้ชีวภัณฑ์ ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ จะเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรได้มาศึกษาดูงานต่อไป ท่านที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 074-557940 นายสุพิท กล่าวทิ้งท้าย