สสก.5 สงขลา รุกพัฒนาเจ้าหน้าที่หนุนเกษตรกรจัดทำระบบน้ำในสวนผลไม้
การวางระบบน้ำที่ถูกต้องในการทำการเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พืชเจริญเติบโตได้ดี เป็นปัจจัยสําคัญในการกําหนดปริมาณผลผลิตของพืช และช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย ดังนั้นในการทำการเกษตรจึงจําเป็นต้องมีการให้น้ำอย่างเหมาะสมกับความต้องการน้ำของพืช
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ระบบการให้น้ำพืช เป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีวิศวกรรมเกษตรประเภทหนึ่ง พัฒนาขึ้นเพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร ช่วยให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้น้ำเท่าที่พืชต้องการ ลดภาระด้านแรงงาน และช่วยลดความเสียหายของพืชอันเนื่องมาจากการขาดน้ำ และลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนผลไม้ พืชทุกชนิดมีความต้องการปริมาณน้ำแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิด พันธุ์ และอายุของพืช ซึ่งหน่วยงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้จัดอบรมการวางระบบน้ำในสวนผลไม้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจาก ๔ จังหวัดภาคใต้ (พัทลุง กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ ๕ จังหวัดสงขลา รวมทั้งสิ้น ๓๕ คน ณ โรงแรมศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง และแปลงของเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่
16 – 18 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยจัดเป็น 2 รุ่นๆ ละ 2 วัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื้อหาในการอบรมประกอบด้วย วันแรกมีการบรรยาย เรื่อง 1) การออกแบบระบบการให้น้ำและปุ๋ยสมัยใหม่ 2) แหล่งน้ำและคุณภาพน้ำสำหรับการเกษตร 3) องค์ประกอบของระบบการให้น้ำแบบอัจฉริยะและระบบเซ็นเซอร์ที่เกี่ยวข้อง โดย คุณปฐมพงศ์ วงษ์เลี้ยง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวันที่ 2 เดินทางลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติในแปลงเกษตรกร ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการบรรยายและฝึกปฏิบัติ เรื่องการต่ออุปกรณ์ควบคุมการจ่ายน้ำและปุ๋ยด้วยเทคโนโลยี IoT โดย คุณณรงค์ฤทธิ์ ไชยสาลี บริษัท VIP-Agriculture และคณะ
นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การวางระบบน้ำที่ถูกต้องนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ 1) มีแหล่งน้ำเพียงพอกับความต้องการของระบบการให้น้ำแก่พืช หรือไม่ ต้องมีแหล่งน้ำ เช่น สระน้ำ บ่อบาดาล แหล่งน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ 2) เลือกชนิดของระบบน้ำที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก 3) ออกแบบระบบอย่างถูกต้องโดยการคิดคำนวณก่อนการติดตั้งและต้องทราบข้อมูลที่สำคัญ เช่น ชนิดพืช ระยะปลูก สภาพพื้นที่ และระบบไฟฟ้า เป็นต้น และต้องเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเหมาะสม เช่น หัวจ่ายน้ำ ท่อย่อย ท่อเมนย่อย ท่อเมน กรองน้ำ เครื่องสูบน้ำ ระบบเปิด ปิดน้ำ และ อื่น ๆ (เครื่องสูบน้ำ และกรองน้ำ ต้องตัดสินใจเลือกใช้หลังจากทราบความต้องการน้ำของระบบแล้ว) 4) การติดตั้งระบบน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่แปลงเพาะปลูก ควรติดตั้งด้วยผู้มีความชำนาญ หรือผู้มีประสบการณ์ และ 5) การใช้และบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำ เป็นต้น ซึ่งความรู้และเทคนิคจากการได้ลงมือปฏิบัติจริงที่เจ้าหน้าที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ก็จะได้นำไปแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปรับใช้ในแปลงของตนเองต่อไป