เวทีสุดยอดผู้นำท้องถิ่นภาคใต้ส่งสัญญาณ ต้องสานพลังชุมชนรับมือการเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคใต้ ที่ห้องแก้วสมุยแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมแก้วสมุยรีสอร์ท อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2563 โดยผู้นำจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ภาคใต้ จำนวนว่า 600 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 187 แห่งในภาคใต้
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ โดยสสส. เริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 ที่ตำบลปากพูน จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นได้ขยายแนวคิดนี้ไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีเครือข่ายร่วมสร้างท้องถึงน่าอยู่ระดับตำบลถึง 384 แห่ง เกิดศูนย์เรียนรู้อีก 18 แห่งด้วยกัน สำหรับการจัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคใต้ และเสริมศักยภาพให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายจะได้นำเอาแนวคิดที่ได้จากเวทีไปขยายผลแนวทางการดำเนินงานในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง
“เป้าหมายหลักของเรา คือเราต้องขยายความคิด ขยายสิ่งดีๆ เหล่านี้ออกไป เพื่อพัฒนาชุมชนของเราในอนาคต อันเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างวิธีการและกระบวนการ เพื่อตอบโจทย์ของพื้นที่ ก่อนจะขยายไปสู่ระดับประเทศต่อไป” ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าว
ส่วน ผศ.ดร.อุไร จเรประพาฬ ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคใต้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมทั้งหมด 96 อปท. ครอบคลุมประชากร 354,073 คน 112,549 ครัวเรือน เมื่อสำรวจข้อมูลและรูปธรรมพื้นที่ และทำการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นในอนาคตแล้ว พบว่า 1.สังคมสูงวัย 2.เด็กและเยาวชน 3.การจัดการเครือข่าย 4.การจัดการสุขภาพ 5.การจัดการเศรษฐกิจ และ 6.การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่เครือข่ายฯ ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ขอยกตัวอย่างเรื่องผู้สูงอายุ ในพื้นที่ภาคใต้ มีผู้สูงอายุร้อยละ 16.65 ของประชากร ผู้สูงอายุจำนวนนี้เป็นผู้เจ็บป่วยเรื้อรังร้อยละ 38.13 ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาได้แก่โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูงตามลำดับ หรืออย่างเรื่องเด็กและเยาวชน เราก็พบว่าทุกวันนี้พวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม หลายคนซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงและเสพยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้นำท้องถิ่นจะต้องเข้าไปจัดการ” ผศ.ดร.อุไร กล่าว
ทางด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการแผนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น 4 องค์กรหลักได้แก่4 องค์กรหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน 3.หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เช่น รพ.สต., กศน. และ 4.องค์กรชุมชนและภาคประชาชน ต้องบูรณาการในพื้นที่ ไม่ต้องทะเลาะกัน ปรึกษาหารือกันด้วยการใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน
“ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเท่ากับการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งการทำให้ชุมชนเราน่าอยู่นั้น ท้องถิ่นต้องทำ 4 เรื่องนี้ ได้แก่ 1.ต้องสานพลังในพื้นที่ให้ได้ จากหมู่บ้านสานพลังเป็นตำบล ก่อนจะขยายไปให้ถึงระดับอำเภอ เพื่อให้สอดรับกับการปกครองของประเทศ 2.ผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องมีปฏิบัติการของตัวเอง ต้องมีความเชี่ยวชาญในบางเรื่องบางประการ 3.สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องสานพลังนวัตกรรมในพื้นที่ ให้เชื่อมต่อกันเป็นพลังในพื้นที่ให้ได้ และ 4.ต้องสานพลังองค์กร ต้องไม่ทำให้องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ทำงานอย่างมีพลัง ไม่ว้าเหว่” ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. กล่าว