สสส. จับมือ ม.มหิดล กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดตัว "หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ" รุกปั้น "นักสื่อสารสุขภาวะวัยเพชร ครู ก" ถ่ายทอดในโรงเรียนผู้สูง
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลังนักสื่อสารวัยเพชร สร้างสังคมสูงอายุรู้ทันสื่อ” เปิดตัว "หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ" หลักสูตรพร้อมใช้เพื่อเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ผู้สูงอายุ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระดับประเทศ ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และตัวแทนองค์กรท้องถิ่น 5 แห่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนหลักสูตรในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) จึงต้องเตรียมพร้อมปัจจัยสุขภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะสื่อซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อโลกยุคใหม่ จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2562 พบว่า ผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 10 ชม.ต่อวัน และร้อยละ 75 ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ถูกหลอกลวงขายสินค้า สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและองค์กรส่วนท้องถิ่น ผลักดันหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ นำร่องพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำหลักสูตรเป็นคู่มือเพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้ และจัดทำในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อช่วยกันสร้างสังคมวิถีชีวิตสุขภาวะ และสร้างพลังให้ผู้สูงอายุก้าวข้ามขีดจำกัดไปเป็นนักสื่อสารสุขภาวะวัยเพชร เป็นพลเมืองสูงวัยเท่าทันสื่อ
รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ หัวหน้าโครงการวิจัยที่ผลิตหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อและนักสื่อสารสุขภาวะวัยเพชร ครู ก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสร้าง พฤฒพลัง (Active Aging) ให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาวะกาย ใจ ปัญญาที่สมบูรณ์ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยสนับสนุนให้ทำงานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้จริง พัฒนาหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ นับเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่บูรณาการความรู้ทางวิชาการด้านรู้เท่าทันสื่อ การเรียนรู้ของผู้สูงอายุ และทุนทางวิถีวัฒนธรรมไทย มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องผ่านการทดลองและทดสอบในโรงเรียนผู้สูงอายุนำร่อง 5 โรง จนสำเร็จออกมาเป็นหลักสูตรที่ง่าย สนุก สอดคล้องกับวัฒนธรรมผู้สูงวัยของไทย