TDIA ครบรอบ 21 ปี Rebrand ก้าวสู่ความมั่นคง
“สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย” ครบรอบ 21 ปี สร้างรากฐานแห่งความยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ “รีแบรนด์ก้าวสู่ความมั่นคง” มุ่งสร้าง “4 ค่านิยมหลัก TDIA” พร้อมพันธกิจแผน “3S” วาง Road Map “7 ทิศทาง” ครอบคลุมการดำเนินงานทุกมิติ สู่เป้าหมายการยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงไทย ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและทุกภาคส่วนธุรกิจ
สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (THAI DIRECT SALE INDUSTRIAL ASSOCIATION : TDIA) จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2544 เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 21 ปีด้วยความมั่นคง ขับเคลื่อนด้วย “วิสัยทัศน์” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและปลูกฝังจิตวิญญาณ การเป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจขายตรงที่มีคุณธรรมและจรรยาบรรณเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนบริษัทขายตรงและนักธุรกิจขายตรงที่มีคุณธรรมและจริยธรรมได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและเดินหน้าทำธุรกิจบนความถูกต้อง ร่วมกันสร้างความดีตอบแทนสังคม อันจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของวงการธุรกิจขายตรงโดยรวม สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
พงษ์กฤตย์ องค์ศิริวัฒนา นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (THAI DIRECT SALE INDUSTRIAL ASSOCIATION : TDIA) เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้สมาคมฯมีนโยบายที่จะสานต่อวิสัยทัศน์เดิมของคณะกรรมการผู้ก่อตั้ง พร้อมมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยกลยุทธ์ “รีแบรนด์ก้าวสู่ความมั่นคง” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขายตรงและตอกย้ำความมั่นคงของสมาคมฯ สร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทสมาชิก ภาครัฐและประชาชน
โดยจะมีการสื่อสาร “Core Values” หรือ “ค่านิยมหลัก” ของสมาคมฯ ได้แก่
T : TEAM WORK – ความสามัคคีของการทำงาน บนพื้นฐานความอบอุ่นเหมือนคนในครอบครัว
D : DEVELOPMENT – การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ในสมาคมฯและสมาชิกสมาคมฯ
I : INTEGRATION - เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้ร่วมกันของภาครัฐ สมาชิกสมาคมฯ นักธุรกิจและผู้บริโภค
A : ACCOUNTANT – การดำเนินธุรกิจบนความรับผิดชอบและการช่วยเหลือสังคม
พร้อมทั้งมี แผนดำเนินงาน “พันธกิจ 3S” คือ 1. SUSTAINABLE ตอกย้ำการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของสมาคมฯ 2. SHARING มุ่งเน้นการแบ่งปันข้อมูลและข่าวสารที่ดีในกลุ่มบริษัทสมาชิกสมาคมฯและผู้บริโภค 3. SERVICE เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือและประสานงานให้กับทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสมาคมฯ ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป
เพื่อให้บรรลุพันธกิจที่วางไว้ โดยมี “Roadmap” ในการทำงานอยู่บน “7 ทิศทางสำคัญ” ได้แก่ 1.เน้น Create Branding TDIA มุ่งสร้างการรับรู้แบรนด์ของสมาคมให้มากขึ้น 2. ถ่ายทอดเจตนารมณ์ของสมาคม Core Value (Family & Warmth ความอบอุ่น) ที่มีความอบอุ่นความสามัคคีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไปสู่บริษัทฯ สมาชิกใหม่ 3. สร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ Business Matching ด้วยการเปิดรับสมาชิกใหม่จากกลุ่มธุรกิจอื่นเข้าสู่สมาคมฯ จากเดิมมีอยู่ประมาณกว่า 20 บริษัทให้เพิ่มขึ้นเท่าตัวในอนาคต 4. การทำ CSR กิจกรรมช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง 5. Learning & Growth เดินหน้าเป็นศูนย์กลาง ในการให้ความรู้เกี่ยวกับ Trend & Digital กลยุทธ์การปรับตัวในโลกปัจจุบันให้กับสมาชิกสมาคม 6.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบออนไลน์ ของสมาคมฯ ให้ทันสมัยและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน 7.สานต่องานของสมาคมฯ ที่ทำอยู่ในอดีตให้เดินหน้าได้ต่อเนื่องและพัฒนาส่วนอื่นเพิ่มขึ้น
“การรีแบรนด์ในครั้งนี้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลง “ตราสัญลักษณ์” (LOGO) เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของสมาคมฯ ให้ชัดเจนทันยุคสมัย MOOD&TONE ของสีหลักคือ “น้ำเงิน” ที่สื่อถึงความมั่นคง “ชมพู” สื่อถึงความโปร่งใสและทันสมัย ทั้งยังมีการปรับรูปแบบให้เห็นอักษรย่อ “TDIA” ให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย” นายกสมาคม TDIA กล่าว
ทางด้าน ณพวัฒน์ สัตย์เพริศพราย เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 21 ปีของการก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย ได้อยู่เคียงข้างสังคมไทยและช่วยยกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรม ไปพร้อมกับการใส่ใจดูแลสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และเน้นการส่งเสริมและแก้ปัญหาของประกอบการ 3 ด้าน 1.เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ "แบรนด์" 2.สร้างความเชื่อมั่น "คุณภาพ" ผลิตภัณฑ์ และ 3. การสร้างการรับรู้แบรนด์ TDIA Distributor Recognition ซึ่งการรีแบรนด์ “Corporate Brand ใหม่” องค์กรสู่ก้าวใหม่ ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นมากกว่าธุรกิจขายตรง และช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมขายตรงไทย ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
“ภายในสมาคมฯ เรามีการสานต่อนโยบายกันอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนผ่านจากเจเนอเรชั่นเก่ามาสู่เจเนอเรชั่นใหม่อย่างไม่มีสะดุด นำจุดแข็งทางประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า มาเสริมและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เป็นจุดแข็งของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว ขณะที่ยังคงไว้ซึ่ง Core Value หลักของสมาคมฯ คือการอยู่ร่วมกันแบบเป็นครอบครัว เมื่อสมาชิกใหม่เข้ามา ทำให้สัมผัสได้ถึงความจริงใจและความอบอุ่น จนสร้างเป็นความเชื่อมั่นในการพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับการพัฒนาในปีนี้ หัวใจสำคัญที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” ของทุกภาคส่วนให้ได้ “ระบบออนไลน์” คืออีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่ต้องถูกพัฒนาโดยเร่งด่วน เพื่อพาธุรกิจก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางการทำการตลาด "ออนไลน์" 2.ข้อมูลการทำตลาด แบบตรง และ ขายตรง และ 3.การนำเสนอทักษะจำเป็นของนักขายอิสระ รวมไปถึงการเร่งพัฒนา ธุรกิจแพลตฟอร์มเครื่องมือออนไลน์ เพื่อช่วยติดอาวุธให้นักธุรกิจที่อยู่ในบริษัทสมาชิก ได้ใช้เป็นเครื่องมือควบคู่กับการทำธุรกิจระบบออฟไลน์ เพราะสมาคมฯเล็งเห็นถึงเทรนด์ของการตลาดโลกในยุคดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เครื่องมือออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ทุกคนมีทักษะความเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์อย่างถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับ Certified Google เข้ามาดูแลและพัฒนาระบบอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน
“ระบบออนไลน์ที่กำลังพัฒนา จะมีการอัปเดตเทรนด์การตลาดใหม่ๆ และความรู้ต่างๆ มาสู่คลังความรู้ของสมาคมฯอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มบริษัทสมาชิกและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการสร้าง Connection เพื่อส่งเสริมกันต่อไปในอนาคต รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ : MLM + Supplier จับมือกับภาคเอกชน เกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยี Blockchain ,Metaverse & Web 3.0 และการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาส่วนสำคัญคือเว็บไซต์ของสมาคมฯ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมสร้างโมบายแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการทำงานได้ในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับบริษัทสมาชิกใหม่ทั้งในกลุ่มธุรกิจขายตรงและกลุ่มธุรกิจอื่น ที่จะเข้ามาร่วมสมาคมฯในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเสริมศักยภาพการทำงานของสมาคมฯ ด้วยการจับมือร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ในการขับเคลื่อนภาครวมของอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตร่วมกัน” เลขาธิการสมาคม TDIA กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง และมีวิกฤติสงครามเกิดขึ้นในระดับโลกจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ กระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนไทย อุตสาหกรรมขายตรงยังคงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญของผู้บริโภค ที่จะใช้ในการสร้างอาชีพที่มั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีนี้ อุตสาหกรรมขายตรงต้องรีบปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน ทั้งในการพัฒนาเครื่องมือ ระบบ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับแค่คนกลุ่มเก่า แต่เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมด้วย เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง