วัดอินทารามจัดพิธีตักบาตรน้ำผึ้งข้าวต้มมัดสูตรโบราณสร้างความสามัคคีและอุทิศบุญให้ผึ้งที่ช่วยเหลือผสมเกสรช่วยให้ชาวสวนมีรายได้
ตามที่จังหวัดสมุทรสงครามมีลิ้นจี่ที่เนื้อแห้งหวานกรอบ ไม่แฉะน้ำ และน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ที่เลิศรส มีชื่อเสียงให้กับชาวสวน และประกอบกับชาววัดอินทารามได้ร่วมประวัติศาสตร์รวมตัวกันทำข้าวต้มมัดและน้ำผึ้ง ไปแจกจ่ายประชาชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระบรมมหาราชวังรวมกว่า 50,000 มัด จนได้ชื่อว่า "ข้าวต้มมัดใจ" มีชื่อเสียงเป็นกล่าวขานถึงเรื่องความอร่อยของข้าวต้มมัดและน้ำผึ้งเกสรลิ้นจี่มาจนถึงปัจจุบันนี้
ดังนั้นพระครูพิศิษฏ์ประชานาถ,ดร.(หลวงพ่อแดงนันทิโย) รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา และเจ้าอาวาสวัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้จัดงานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งและข้าวต้มมัดสูตรโบราณ ซึ่งวัดอินทรารามจัดขึ้นทุกวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีไทยสมัยพุทธกาล ซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เกิดความสามัคคีในชุมชนเหมือนกับผึ้งที่ร่วมกันสร้างรัง ตลอดจนเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผึ้งที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการผสมเกสรให้พืชผลของชาวสวนจนได้ผลผลิตมาสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยนายวงเทพ เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ดร.หลวงพ่อแดงนันทิโย เจ้าอาวาสวัดอินทาราม นำพระสงฆ์ 14 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อเริ่มบท "พาหุงมะหากา" รองผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้านและเด็ก สวมใส่ชุดสีขาว ร่วมกันนำน้ำผึ้งมาใส่บาตร และนำข้าวต้มมัดใส่ในถาดที่วางคู่กับบาตร จากนั้นจะกล่าวคำถวายน้ำผึ้งถวายพระสงฆ์ และรับศิลรับพร เป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ในงานทางวัดยังได้จัดเลี้ยงก๊วยเตี๋ยว และกาแฟสดใส่น้ำตาลมะพร้าวด้วย ซึ่งพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานได้ชื่นชอบกันอย่างมาก
สำหรับข้าวต้มมัด ที่ได้จากการทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน ที่เหลือจากพระฉันแล้ว ส่วนหนึ่งทางวัดจะแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมบุญนำกลับบ้านแจกลูกหลานกิน ส่วนน้ำผึ้งส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคกับพระสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งก็แจกจ่ายชาวบ้านเช่นกัน ขณะที่เงินปัจจัยที่ได้จากการทำบุญชาวบ้านก็จะถวายให้กับทางวัดเพื่อนำไปพัฒนาวัดต่อไป
พระครูพิศิษฎ์ประชานาถ,ดร. กล่าวว่า สำหรับประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีโบราณสืบเนื่องมาจากความเชื่อว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ป่าเลไลย์ มีช้างและลิงคอยอุปัฏฐากโดยการนำเอาอ้อยและน้ำผึ้งคอยถวาย ต่อมาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสามเณรรับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้ นอกจากนี้ยังมีตำนานเอ่ยถึงสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระปัจเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ ประสงค์ได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันนึ่งได้ไปโปรดสัตว์ชายป่า มีชาวบ้านยากจนไม่มีอาหารอื่นถวายนอกจากน้ำผึ้งจึงนำมาถวาย และด้วยความศรัทธาอันเปี่ยมล้นทำให้น้ำผึ้งที่ใส่ในบาตรเพิ่มพูนจนล้นบาตร เป็นที่อัศจรรย์ อานิสงค์ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งและมีอำนาจ เป็นต้น ต่อมาน้ำผึ้งเริ่มหายาก ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งจึงค่อยๆเลือนหายไป ผู้ที่มาทำบุญเปลี่ยนจากน้ำผึ้งเป็นน้ำตาลทรายบ้างน้ำหวานบ้าง ส่วนข้าวต้มมัดมีที่มาที่สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ ชาวบ้านจะใส่บาตรก็ไม่ถึงจึงต้องมัดเป็นข้าวต้มใส่บาตร ถือเป็นอานิสงค์สูงเช่นกัน ชาวตำบลเหมืองใหม่จึงร่วมใจกับรื้อฟื้นประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้งข้าวต้มมัดสูตรโบราณที่วัดอินทราราม ทุกวันพระขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ทุกปีและปฏิบัติมาตั้งแต่ ประมาณปี 2540 หรือ กว่า 20 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการบูชาถวายพระสงฆ์เพื่อเก็บน้ำผึ้งไว้เพื่อใช้เป็นยาในคราวจำเป็น เพราะเป็นส่วนผสมของยาโบราณที่สำคัญพระสงฆ์ไม่สามารถจัดหามาเองได้ ส่วนสรรพคุณทางยาของน้ำผึ้งรักษาได้หลายโรค เช่น น้ำผึ้งผสมมะนาวแก้อาการเจ็บคอ, จีบน้ำผึ้งผสมน้อุ่นก่อนนอนช่วยแก้ท้องผูก, กินน้ำผึ้งวันละ 1 ช้อนชาแก้โรคกระเพาะ, นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการนอนไม่หลับและรักษาแผลได้
000000000000000000000000000000000